วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2557

5ส ที่คนไทยไม่รู้จัก



ใครที่เพิ่งเคยอ่านบทความเรื่อง “5ส ที่คนไทยไม่รู้จัก” นี้เป็นครั้งแรก อาจตั้งคำถามกับผมว่า ทำไมคนไทยจะไม่รู้จัก 5ส

ครับ 5ส เข้ามาในเมืองไทยมานานหลายสิบปีแล้ว และคำว่า 5ส ก็เป็นคำที่คุ้นหูคนไทยส่วนใหญ่แล้วเช่นกัน คือ สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และ สร้างนิสัย

ถ้าเป็นองค์กรธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่มีโรงงาน ผมคิดว่าไม่มีโรงงานไหนไม่รู้จัก 5ส และส่วนใหญ่จะเคยลงมือทำ 5ส กันมาแล้ว
ส่วนองค์กรของรัฐนั้นแทบไม่ต้องพูดถึง แทบทุกแห่งล้วนส่งเสริมให้ทำ 5ส ในหน่วยงานกันอย่างจริงจังกันทั้งนั้น

และถ้าลองเข้าไปค้นในคำว่า “5ส” ใน Google ดู ก็จะเห็นว่ามีการทำ 5ส กันอย่างมากมายในเมืองไทย
และกิจกรรม 5ส ของหลายๆ หน่วยงานก็น่าชื่นชมและน่าสนใจมาก

ข้อมูลจาก Google บ่งบอกว่า เมืองไทยเราเป็น “นักกิจกรรม 5ส” ตัวยง และทำกิจกรรม 5ส กันอย่างเป็นล่ำเป็นสันไม่น้อยหน้าชาติใดในโลกเลยทีเดียวครับ

แต่ผมอยากให้สังเกตดูจากที่ค้นได้ในเว็บนะครับว่า กิจกรรม 5ส ของเรามักจะเน้นไปที่ “การทำความสะอาด” และ “จัดระเบียบเรียบร้อย” ในสถานที่ทำงานเป็นหลักเท่านั้น และอยากให้สังเกตต่อไปอีกด้วยว่า ทำไมเพียงแค่การทำความสะอาดและการจัดระเบียบเรียบร้อยในสถานที่ทำงานเพียงเท่านี้ จะส่งผลให้องค์กรประสบความสำเร็จในทุกๆ เรื่องได้เลยเชียวหรือ

จนถึงกับมีคนกล่าวว่า “ถ้าทำ 5ส ให้สำเร็จไม่ได้ ก็คงจะประสบความสำเร็จในเรื่องอื่นได้ยาก”

ทีนี้ปัญหาจริงๆ ในส่วนที่ผมพบเห็นมาตลอดก็คือ การนำ 5ส มาใช้นั้นส่วนใหญ่มักจะ “ล้มเหลว” มากกว่าที่จะประสบความสำเร็จครับ 

โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีโรงงานเป็นกันมากเลยทีเดียว


ถ้าไม่หลอกตัวเองผมคิดว่าผู้รับผิดชอบกิจกรรมหรือผู้ที่นำ 5ส มาปฏิบัติน่าจะ “รู้สึก” ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้วว่า 5ส ที่ทำอยู่นั้นประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวกันแน่

ผมใช้สิ่งต่อไปนี้มาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จหรือล้มเหลวในการทำ 5ส ลองเช็คตัวเองตามไปนะครับ

ถ้า 5ส ที่ทำนั้นมีกิจกรรม Big Cleanning Day ร่วมอยู่ด้วยก็ให้สังเกตดูว่า หลังทำ Big Cleaning ไปแล้วสภาพ 5ส ที่ได้นั้น (ส่วนใหญ่จะเป็นความสะอาดของพื้นที่) กลับมาเป็นเหมือนเดิมตอนก่อนทำ จนต้องทำ Big Cleaning Day ซ้ำกันตลอดทุกปีหรือไม่
[ ถ้าใช่ ได้ 0 คะแนน ]


5ส ที่ทำนั้นมี "มูลค่าเพิ่ม" หรือไม่ เช่น มีการปรับปรุงสภาพพื้นที่ให้ทำงานสะดวกขึ้นหรือทำความสะอาดได้และทำความสะอาดง่าย หรือ มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาในกิจกรรม 5ส ที่จุดต่างๆ
[ ถ้าไม่มีมูลค่าเพิ่มเลย และกิจกรรมหลักก็คือ “การทำความสะอาดจัดระเบียบเรียบร้อย” ได้ 0 คะแนน ]


พนักงานที่ต้องทำ 5ส มี "ความสุข" กับการทำ 5ส หรือว่า "เบื่อหน่าย" กับการถูกสั่งให้ทำหรือการถูกตรวจ 5ส
[ ถ้าพนักงานไม่ชอบและหวาดกลัวการตรวจ 5ส ได้ 0 คะแนน ]


อุปกรณ์และเครื่องมือสำคัญในการทำ 5ส ที่ต้องการให้องค์กรสนับสนุนมีแค่ ไม้กวาด ที่ตักขยะ น้ำยาทำความสะอาด และถังขยะ
[ ถ้าใช่ ได้ 0 คะแนน ]


แค่นี้ก็เพียงพอที่จะประเมินได้แล้วว่า 5ส ที่ทำกันอยู่นั้นประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวกันแน่

เพราะ 5ส ที่ผมรู้จักนั้น “ทำกันแค่ครั้งเดียว” ถ้าทำ 5ส ให้เกิดขึ้นได้จริงแล้ว ผลของมันจะคงสภาพอยู่ได้ตลอดเวลา หรือ “ทำแล้วไม่ต้องทำอีก” ครับ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมี Big Cleaning Day กันบ่อยๆ หรือไม่ต้องทำทุกปี และไม่ต้องมาคอยตรวจ 5ส ซ้ำกันอีกในพื้นที่เดิมๆ

ถ้าทำ 5ส ให้เกิดขึ้นได้จริงแล้ว พนักงานต้องพึงพอใจในสภาพ 5ส และจะพึงพอใจในการมีส่วนร่วมในการทำให้เกิด 5ส ในพื้นที่ด้วยตัวเอง และไม่กลัวการตรวจ 5ส ครับ

ตรงกันข้ามพนักงานกลับจะมีความภาคภูมิใจ และยินดีที่จะให้มีผู้เข้ามาดูหรือติชมผลงานที่ทำได้มากกว่า

นอกจากนี้การทำ 5ส จะต้องมีสิ่งที่ตามมาคือ การทำ “ไคเซ็น” (การปรับปรุงให้ดีขึ้น) ในพื้นที่ครับ ดังนั้นจำนวนหัวข้อกิจกรรมไคเซ็นสำหรับ 5ส จะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ และสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของ 5ส ได้ดีตัวนึง

สุดท้ายให้ลองเปิดลิ้นชักเครื่องเขียนของตัวคุณเองหรือของผู้ที่เชื่อทำ 5ส ประสบความสำเร็จแล้วดูครับ ว่าเป็นแบบนี้หรือเปล่า





ผมเชื่อว่าถ้าใครทำ 5ส ได้อย่างถูกต้อง และรู้จัก 5ส อย่างแท้จริงแล้วลิ้นชักเครื่องเขียนจะเป็นไปในทำนองนี้หรือดีกว่าแบบนี้ (ตามหลักการของ 5ส) ทุกคนครับ

ถ้าไม่เป็นแบบนี้ผมเชื่อว่าคุณยังไม่รู้จัก 5ส ดีพอ หรือไม่ได้ทำ 5ส

การที่เราทำ 5ส กันแล้วล้มเหลวหรือไม่ประสบความสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ ก็เพราะเราไม่รู้จัก 5ส ดีพอนี่แหละครับคือสาเหตุหลัก

ส่วน "5ส ที่คนไทยไม่รู้จัก" จะเป็นอย่างไรนั้นขอยกไปตอนหน้าครับ