วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เริ่มต้นด้วย ส สะสาง

มีใครเคยตั้งคำถามบ้างหรือไม่ครับว่า การทำ 5ส ทำไมต้องเริ่มที่ "สะสาง"


หากอยากรู้ผมขอให้ลองพิจารณาความคิดเห็นต่อการทำ "สะสาง" ของท่านอาจารย์โคอิจิ ซึงิยามะ ข้างล่างนี้ดูก่อน

"สะสาง เป็นการเสริมสร้างความสามารถในการมองให้สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดเป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ ในการทำงาน และขจัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากสถานที่ทำงานโดยไม่ปล่อยทิ้งเอาไว้"


(จากหนังสือ 100 แนวคิดและเทคนิคพิชิตต้นทุนแบบรวบยอด แปลโดย ธาดา พฤฒิธาดา)


ผมขอแจกแจงความคิดเห็นข้างต้นดังนี้ครับ

1. แยกแยะให้ได้ว่าสิ่งใดจำเป็นจริงๆ กับการทำงาน และไม่จำเป็นกับการทำงาน
2. สิ่งที่ไม่จำเป็นกับการทำงานให้นำออกไป อย่าให้อยู่ในสถานที่ทำงาน
3. ฝึกฝนตัวเองเพื่อให้มีความสามารถพอที่จะทำข้อที่ 1 ได้

การทำงานย่อมต้องมี "คน" "งาน"  และ "สถานที่" การจะรู้ว่าสิ่งใดจำเป็นจริงๆ กับการทำงาน จึงต้องเข้าใจความสัมพันธ์ที่มีต่อกันอย่างชัดเจนของ คน งาน สิ่งของ และสถานที่เสียก่อนครับ

"สะสาง" จึงต้องเริ่มด้วยการ "กำหนดให้ชัดเจน" ถึงความสัมพันธ์ที่จำเป็นต่อกันในการทำงานในสถานที่ระหว่าง คน งาน สิ่งของ และสถานที่ สิ่งของที่ไม่มีความสัมพันธ์กันเลยหรือมีแต่น้อยมากนั่นแหละครับคือ สิ่งที่ไม่ควรอยู่ในสถานที่ให้นำออกไป

สะสางจึงไม่ใช่เรื่องยากและไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่ต้อง "ฝึกฝน"


ลองเริ่ม 5ส ด้วยการทำ "สะสาง" ที่จุดง่ายๆ เช่นลิ้นชักเครื่องเขียนอย่างในรูปตัวอย่างนี้ดูนะครับ




เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ทำไมการทำ 5ส ต้องเริ่มด้วย "สะสาง" ก่อนเป็นอย่างแรก ผมเชื่อว่าหลายๆ คนส่วนใหญ่ก็มักจะมีลิ้นชักแบบนี้




เมื่อแยกแยะได้แล้วว่าสิ่งใดจำเป็นจริงๆ กับการทำงาน และไม่จำเป็นกับการทำงาน
ตรงจุดนี้ ให้เอาของที่ไม่จำเป็นออกไป ก็จะได้ผลทำนองเดียวกับรูปข้างล่าง

(หมายเหตุ เป็นคนละลิ้นชักกันกับสองรูปข้างบนนะครับ)




กลับไปที่ความหมายสะสางของอาจารย์โคอิจิ ซึงิยามะ อีกครั้งนะครับ จะเห็นว่าเมื่อทำสะสางแล้วจะเพิ่ม "ความสามารถในการมองเห็น" สิ่งของต่างๆ ในพื้นที่มากขึ้นอย่างชัดเจนเลยใช่ไหมครับ

นี่แหละครับหลักคิดที่สำคัญของ "5ส" ที่เริ่มต้นด้วย "สะสาง" ที่ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ไหนก็สามารถนำหลักนี้ไปใช้ได้ทุกที่


ตอนหน้าผมจะมานำเสนอวิธีง่ายๆ ในการทำสะสางให้นะครับ

ทำ 5ส ไปเพื่ออะไร

ถึงแม้ 5ส จะเป็นกิจกรรมยอดนิยม ที่มักจะนำมาทำกันในองค์กรต่างๆ   แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเข้าใจกันว่า 5ส เป็นเรื่องของ "การทำความสะอาด" และ "การจัดระเบียบเรียบร้อย" ในสถานที่ทำงาน

ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ "ผิด" ครับ


ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยนั้นเป็นเพียงแค่ "ผลพลอยได้" ไม่ใช่เนื้อหาหลักของการทำกิจกรรม 5ส

เพราะความจริงแล้ว 5ส เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการอีกตัวหนึ่งที่มีประโยชน์มาก ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำมาใช้ "เพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเปล่า" ในการทำงานครับ การทำ 5ส จึงต้องมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเปล่าในสถานที่ทำงานเป็นหลัก ถึงจะเป็นแนวทางการทำ 5ส ที่ถูกต้อง


ผมอยากให้ลองดูการทำ 5ส ที่จุดนี้ตามรูปข้างล่างเป็นตัวอย่าง

























จุดนี้เป็นสถานที่จัดเก็บตัวโบลต์ยึดแม่พิมพ์ปั๊มโลหะซึ่งมีขนาดความยาวต่างๆ กัน
และยังเป็นที่จัดเก็บประแจขันซึ่งต้องใช้ร่วมกันกับโบลต์

สิ่งแรกที่เราได้จากการทำ 5ส ที่จุดนี้ก็คือ "การเข้าถึง" โบลต์แต่ละตัวและประแจขันได้ง่าย แตกต่างจากการจัดเก็บทั่วๆ ไปที่ส่วนใหญ่มักจะกองโบลต์ไว้รวมๆ กัน และต้องเสียเวลาเลือกหาโบลต์ ขนาดความยาวที่ต้องการจากกอง ซึ่งบางครั้งหยิบผิดขนาดไปก็ต้องเสียเวลานำกลับมาเปลี่ยนใหม่อีก นอกจากนี้การกองโบลต์ไว้รวมๆ กันยังอาจทำให้เกลียวโบลต์เสียหายได้อีกด้วย

การทำ 5ส ที่จุดนี้จึงเป็นการ "เพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเปล่า" ได้อย่างชัดเจน ส่วนความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่เห็นเป็นเพียงแค่ "ผลพลอยได้" เท่านั้นครับ

มาดูกันครับว่าเราทำอะไรไปที่จุดนี้บ้าง

ทำ "สะสาง" ด้วยการกำหนดพื้นที่ตรงนี้ให้มีแต่โบลต์และประแจขันตามจำนวนที่ต้องใช้เท่านั้น (สิ่งอื่นนอกจากนี้ให้นำออกไป)

ทำราวแขวนและล๊อกที่อยู่ให้โบลต์แต่ละตัว ตีเส้นบอกขนาดความยาวโบลต์ เพื่อให้ "สะดวก" ในการหยิบไปใช้และจัดเก็บ

จัดเก็บในแนวตั้งและรองพื้นไม้กระดานด้วยสีน้ำมัน เพื่อให้ "ทำความสะอาดได้และทำความสะอาดง่าย" เพื่อรักษาความ "สะอาด"

ช่องที่อยู่เฉพาะของโบลต์แต่ละตัวจะทำให้รักษา "สภาพเดิม" ได้ง่ายเนื่องจากเมื่อมีการนำโบลต์หรือประแจออกไปใช้จะเกิดช่อง ให้เห็นว่ามีการนำไปใช้

สุดท้ายเมื่อเห็นว่าพื้นที่ไม่อยู่ในสภาพเดิม (คือ โบลต์หรือประแจหายไป) ให้ตามกลับมาให้อยู่ในสภาพเดิมให้ได้ ทำอย่างนี้อย่าง "สม่ำเสมอ"

ครบทั้ง 5ส แล้วใช่ไหมครับ


ผมมีความเชื่ออยู่ว่า "หัวใจสำคัญ" ของการทำ 5ส ให้ประสบความสำเร็จ อยู่ที่การเข้าใจว่าเราทำ "ส" ต่างๆ ทั้ง 5ส ไปเพื่ออะไรกัน ดังนั้นขอให้ลองกลับไปทบทวน 5ส ที่เราได้ทำกันไปดูนะครับว่า เราทำ 5ส เพื่อ "ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย" หรือ เพื่อ "เพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเปล่า" ในสถานที่ทำงานของเรากันแน่